ARTICLES
เมื่อให้นึกถึงคำว่า “เรียนรู้” บางคนอาจนึกถึง โรงเรียน นักเรียน และครูอาจารย์ บางคนอาจนึกถึงเด็กทารก ช่วงวัย อายุ บางคนอาจนึกถึง ตำราวิชาการ การจดจำ การสอบ... หลายแง่มุมความนึกคิด ทุกอย่างที่กล่าวมาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการ “เรียนรู้” จะว่าไปแล้ว มนุษย์มีการรับรู้และเรียนรู้เกิดขึ้นตลอดเวลา ทั้งที่รู้ตัวว่ากำลังเรียนรู้อยู่ และไม่รู้ตัว เกิดเป็นพัฒนาการของแต่ละบุคคล แต่ความสามารถในการรับข้อมูลที่ส่งเข้ามาในรูปลักษณ์ต่างๆ อาจจะรับรู้ได้ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับความถนัดในการรับรู้ข้อมูล
มีตัวอย่างความไม่เข้าใจกันที่เกิดจากความถนัดการรับรู้ที่แตกต่างกัน
นี่เป็นตัวอย่างของความถนัดในการรับรู้ที่แตกต่างกันของคน 2 คน คนแรกถนัดการมองจึงเตรียมข้อมูลการส่งสารในรูปแบบตัวเลข ภาพ ให้ผู้อื่นได้ “เห็น” ส่วนคนที่ 2 ถนัดการฟังและไม่ถนัดการมอง จึงเลือกที่จะรับรู้ผ่านทางเสียงมากกว่าทางรูป
แต่ละบุคคลจะมีความถนัดในการรับรู้ข้อมูลที่แตกต่างกันไป โดยสามารถนำมาจัดเป็นรูปแบบการเรียนรู้ได้ 3 ประเภทใหญ่ๆ
1) ผู้ที่เรียนรู้ทางสายตา (Visual learner) เป็นผู้ที่ถนัดรับรู้ข้อมูลผ่านทางการดูหรือการมองเห็น รับรู้ได้ไวต่อภาพ สีสัน แสง รูปพรรณ จึงเรียนรู้ได้ดีจากรูปภาพ แผนภูมิ แผนผัง สไลด์ VDO หรือจากเนื้อหาที่เขียนเป็นเรื่องราว หรือเห็นการแสดงสาธิต สังเกตกิริยาท่าทาง เวลาจะนึกถึงเหตุการณ์ใด ก็จะนึกถึงภาพลักษณะของคำพูดที่คนกลุ่มนี้ชอบใช้ เช่น “ฉันเห็น” หรือ “ฉันเห็นเป็นภาพ…..”
คนในกลุ่มนี้มักชอบจดบันทึกย่อเก็บข้อมูล คำนึงรายละเอียด รูปลักษณ์ อ่านเอกสาร ใส่จินตนาการ วาดภาพในความคิด สายตาไม่ค่อยอยู่นิ่ง สนใจสิ่งแวดล้อม ชอบมองสิ่งต่างๆ รอบตัว และจะเรียนรู้ได้ดีถ้าผู้บรรยายนำเสนอ ผูกข้อมูลให้เป็นเรื่องราว ใส่ภาพประกอบและสีสันเข้าไปในการนำเสนอ
2) ผู้ที่เรียนรู้ทางโสตประสาท (Auditory Learner) เป็นผู้ที่ถนัดรับรู้ข้อมูลเสียง ผ่านทางการฟังหรือได้พูด จะไม่สนใจรูปภาพ ชอบฟังเรื่องราวซ้ำๆ และชอบเล่าเรื่องให้คนอื่นฟัง จึงเรียนรู้ได้ดีจากการฟังบรรยาย อภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้อื่น ทำความเข้าใจความหมาย เรื่องราวได้จากสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง มากกว่าข้อมูลที่เป็นตัวหนังสือหรือภาพประกอบต่างๆ
คนในกลุ่มนี้มีความรู้สึกไวต่อการได้ยินที่เหนือกว่าคนอื่น ทั้งน้ำเสียง สำเนียง ระดับเสียง รู้จักเลือกใช้คำพูด มีจังหวะจะโคนในการออกเสียง รวมทั้งชอบพูดพึมพำกับตัวเอง มักใช้สัญญลักษณ์หรือเครื่องหมายที่เป็นที่เข้าใจเฉพาะตน มักจะคิดเป็นคำพูด และชอบพูดว่า “ฉันได้ยินมาว่า……../ ฉันได้ฟังมาเหมือนกับว่า……” ผู้บรรยายควรนำเสนอผ่านน้ำเสียง โดยเลือกคำพูดและวิธีการพูดที่ผู้เรียนชอบ สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ให้เป็นการสนทนา เปิดโอกาสให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ อธิบายความ อาจจัดการเรียนเป็นกลุ่ม
3) ผู้ที่เรียนรู้ทางการสัมผัสและความรู้สึก (Kinesthetic learner) เป็นผู้ที่ถนัดรับรู้ข้อมูล ผ่านทางการสัมผัสและเคลื่อนไหวร่างกาย จับความรู้สึกของสิ่งแวดล้อมได้ไว เช่น ผิวสัมผัส อุณหภูมิที่เปลี่ยนไป ความรู้สึกเจ็บปวดหรือรู้สึกสบาย สามารถจดจำสิ่งที่เรียนรู้ได้ดีหากได้มีการสัมผัสและเกิดความรู้สึกที่ดีต่อสิ่งที่เรียน ถนัดที่จะลงมือปฏิบัติ ทดลอง หรือลงมือทำเอง มากกว่าการได้ดูหรือฟัง เวลาพูดคุยมักชอบออกท่าทางประกอบ ไม่ชอบอยู่นิ่งเป็นเวลานานๆ สามารถสังเกตบุคลิกภาพของคนในกลุ่มนี้ได้จากคำพูดที่ว่า “ฉันรู้สึกว่า……”
การเรียนรู้ที่ได้ผลดีของคนในกลุ่มนี้คือต้องให้ผู้เรียนได้หยิบจับ ลงมือทำกิจกรรม ให้รู้สึกได้ใกล้ชิดและเกิดประสบการณ์ด้วยตัวเอง เช่นการแสดงบทบาทสมมติ การแสดงออก การทดลอง การออกสำรวจ หรือทำโครงงานภาคปฏิบัติต่างๆ หรืออาจจะนำตัวอย่างชิ้นงานจริงมาให้ลองสัมผัส
แต่ละคนจะมีรูปแบบการเรียนรู้เฉพาะตัวไม่เหมือนกัน ไม่มีผู้ใดที่ใช้ความถนัดในการเรียนรู้แบบใดแบบหนึ่งอยู่ตลอดเวลา ส่วนใหญ่จะใช้ผสมผสานกัน แต่รูปแบบที่ตนถนัดที่สุด โดดเด่นที่สุดจะถูกนำมาใช้มากกว่ารูปแบบอื่น และมีแนวโน้มที่จะลดทอนการใช้รูปแบบที่ตนไม่ถนัดลง จนถึงในบางครั้งเราอาจละเลยการรับในรูปแบบอื่นๆ นั้นไป เช่นคนที่มีความถนัดการรับรู้ทางการดูการเห็น อาจละเลยหรือรำคาญการรับรู้ข้อมูลผ่านทางเสียงจนปฏิเสธข้อมูลที่ผ่านทางเสียงนั้นไป
การที่เราได้รู้และเข้าใจธรรมชาติการรับรู้ของตน ทั้งรูปแบบที่ตนถนัดและไม่ถนัด ช่วยให้เราใช้รูปแบบที่ตนเองถนัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสามารถทำการฝึกฝนรูปแบบที่เราไม่ค่อยถนัด ให้ใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพขึ้น เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการเรียนรู้ของตนเอง สร้างพัฒนาการ ความก้าวหน้าได้เร็วขึ้น และความเข้าใจในรูปแบบการการเรียนรู้ในภาพรวมจะช่วยให้เราจัดสภาพแวดล้อมเพื่อเสริมการรับรู้และเรียนรู้ให้เหมาะสมกับบุคคลที่เกี่ยวข้องในการเรียนรู้นั้นๆ ได้ดีขึ้นอีกด้วย
by : Tat Jarusaksri