ARTICLES
คนเรามีความแตกต่างกัน คนที่เป็นหัวหน้าเป็นผู้บังคับบัญชาก็มีลักษณะมีสไตล์ที่แตกต่าง ใน ตอนนี้เราจะมาทำความรู้จัก เข้าใจลักษณะของหัวหน้าแต่ละสไตล์เพิ่มเติมมากขึ้น
สไตล์ D - Dominance เป็นคนที่ตรงไปตรงมา มั่นใจ เด็ดขาด แน่วแน่ กล้าเผชิญหน้า คล่องแคล่ว เน้นผลลัพธ์ ชอบความท้าทาย ผจญภัย แข่งขัน ชอบจัดการกับปัญหา มองภาพใหญ่ เป้าหมายชัดเจน
หัวหน้าที่เป็นคนสไตล์นี้ถนัดทำงานแบบอิสระ ตัดสินใจเร็ว ทำงานเร็ว รับความเสี่ยงได้สูง มองปัญหาเป็นความท้าทาย รับมือกับเรื่องเร่งด่วนและเรื่องฉุกเฉินได้ดี พูดตรงประเด็น จนบางครั้งอาจถูกมองว่าพูดห้วน โผงผาง ไม่ชอบถูกควบคุม แต่ชอบที่จะเข้าควบคุมลูกน้อง ลูกน้องมักกริ่งเกรง “มาดและแววตา” ของหัวหน้าสไตล์นี้ อาจถึงกับเลี่ยงที่จะพบเจอ ไม่กล้าถาม ไม่กล้าเข้ามาปรึกษา ลูกน้องมักรู้สึกเหนื่อยและเครียดเมื่อทำงานด้วย เนื่องจากความที่หัวหน้าทำงานเร็ว ต้องการผลลัพธ์ที่เร็ว
หัวหน้าสไตล์นี้โมโหง่าย ไม่ค่อยรับความรู้สึกของผู้อื่นเอามาใส่ใจ อาจลืมมองว่าคนที่ตามหลังวิ่งตามไม่ทัน จนเกิดช่องว่างระหว่างตนเองและลูกน้องกว้างขึ้นเรื่อยๆ หัวหน้าสไตล์นี้มีความสามารถในการจับประเด็น วางแผน กำหนดเป้าหมาย มุ่งมั่นลงมือสร้างผลให้เกิดขึ้นจริง และไม่ยอมแพ้หรือเลิกล้มอะไรง่ายๆ จนอาจถึงขั้นถูกมอง “ดื้อรั้น หัวชนฝา เอาแต่ใจตัวเอง” ซึ่งเป็นการลดทอนภาวะผู้นำของหัวหน้าสไตล์นี้ลงได้ การเพิ่มความเชี่ยวชาญเรื่องคน สร้างมนุษยสัมพันธ์ เพิ่มปฏิสัมพันธ์ ให้ความเป็นกันเอง ซึ่งจะช่วยให้หัวหน้าสไตล์นี้ดูนุ่มนวลขึ้น น่าคบหาน่าเข้าใกล้ ตนเองจะเครียดน้อยลง ลูกน้องก็เครียดน้อยลงไปด้วย ซึ่งจะสร้างความร่วมมือร่วมใจ ทำงานกันเป็นทีมอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
สไตล์ I - Influence เป็นคนที่ช่างพูด ช่างเจรจา เปิดเผย ชอบสังคมพบปะผู้คน กระตือรือร้น สนุกสนานกับกลุ่มคน มองโลกในแง่ดี เป็นมิตร ต้องการการมีส่วนร่วม โน้มน้าวจูงใจเก่ง สร้างสรรค์ รักอิสระ และไม่ชอบความจำเจ
หัวหน้าสไตล์นี้ถนัดทำงานกับผู้คน ทำงานเป็นทีม ไม่ชอบถูกควบคุม เบื่อความจำเจ ไม่ค่อยลงรายละเอียด และไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการกำหนดกรอบเวลา และการวางแผน หัวหน้าสไตล์นี้อาจมีกิจกรรมนอกหน่วยงานมากมาย จนไม่ค่อยมีเวลาให้กับลูกน้อง หรือเมื่อลูกน้องนำปัญหามาปรึกษาก็มักให้คำปรึกษาในภาพกว้าง จนลูกน้องอาจรู้สึกหงุดหงิดรำคาญ เมื่อไม่ได้รับแนวทางการแก้ปัญหาที่ชะงัดและทันท่วงที บางครั้งรับปากว่าจะรับเรื่องไปจัดการให้ ก็ลืมภารกิจที่รับปากไว้ และจากการที่หัวหน้าสไตล์นี้ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการกำหนดกรอบเวลาและการวางแผน จึงอาจสร้างความวุ่นวายสับสนให้กับลูกน้อง ที่ต้องจัดการงานแบบ “จวนตัว” บ่อยๆ
หัวหน้าสไตล์นี้เป็นคนที่มีชีวิตชีวา ไม่ค่อยเครียด มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ลูกน้องสามารถเข้าหาและพูดคุยได้อย่างเป็นกันเอง แต่การที่ช่างสังคม ช่างสนุกสนานเกินไป อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายโกลาหลในการบริหารจัดการทีม การปล่อยให้ลูกน้องลุยกันเอง โดยไม่เข้าไปล้วงลูกบ้าง อาจทำให้เสียระบบได้ การนำเอาระบบเข้ามาจับ ชักนำทีมให้มาช่วยกันวางแผน กำหนดเป้าหมาย รับรู้กรอบเวลาร่วมกันจะช่วยสร้างให้หัวหน้าสไตล์นี้มีประสิทธิผลสูงขึ้น หัวหน้าและลูกน้องได้ผลงาน ที่อยู่บนความร่วมมือร่วมใจกันจริงๆ
สไตล์ S - Steadiness เป็นคนที่ใจเย็น อดทน เป็นผู้ฟังที่ดี เห็นอกเห็นใจผู้อื่น สุภาพ อ่อนน้อม ทำงานตามแบบแผน ให้ความร่วมมือกับกลุ่ม ให้ความสำคัญกับความมั่นคง สม่ำเสมอ ประณีต รอบคอบ ค่อยเป็นค่อยไป
หัวหน้าสไตล์นี้ถนัดทำงานกับผู้คน ทำงานเป็นทีม อยู่ในกรอบกติกามารยาท ไม่ชอบความขัดแย้ง ไม่ชอบโต้แย้งกับใคร พยายามทำให้ทุกคนในกลุ่มรู้สึกดี ใจดีกับลูกน้อง ใส่ใจความรู้สึกมากจนบางครั้งไม่กล้าตำหนิ ติติงลูกน้องที่ทำผิดพลาด คิดว่าให้โอกาสลูกน้องที่ทำผิด หรือปกป้องลูกน้องที่ทำผิดจนเกินไป ทำให้ลูกน้องอาจไม่ได้รับทราบเลยว่าตนทำงานพลาดในส่วนไหน หรือในสถานการณ์ที่เลวร้ายก็คือ ลูกน้องเหลิง ใช้ความใจดีของหัวหน้ามาเป็นเกราะกำบังความผิดที่ตนก่อ และด้วยความที่เป็นคน “อะไรก็ได้” โอนอ่อนไปกับเสียงหมู่มาก ทำให้ในการบริหารจัดการอาจเกิดปัญหาเรื่องการตัดสินใจที่มักลังเล รอถามความเห็นของคนโน้น คนนี้ จนเกิดความล่าช้า และอาจถูกมองว่าเป็นคนที่เหมือนจะไม่ค่อยมีความมั่นใจในตัวเอง ซึ่งสิ่งนี้สามารถลดทอนความน่าเชื่อถือของความเป็นหัวหน้าลงได้
หัวหน้าสไตล์นี้มีทุนทางสังคมที่ดีอยู่แล้ว มีคนเข้าใกล้ ให้ความเป็นกันเอง การเพิ่มความสามารถในการวิเคราะห์ คาดการณ์ล่วงหน้า วางแผนเชิงรุกให้มากขึ้น จะช่วยให้หัวหน้าสไตล์นี้รับมือกับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น การที่หัวหน้าคิดแนวทางการตัดสินใจตามเหตุและผลที่ตนวิเคราะห์ไว้ บวกกับลดความรู้สึกขี้เกรงใจลงบ้างก็จะช่วยร่นเวลาของ “ความลังเล” ลง หรือกระทั่งลดทอน “การแบกความรู้สึก” ลงไปได้ เช่น คิดวิเคราะห์เหตุและผลของสิ่งที่ลูกน้องกระทำผิด เตรียมแนวทางการพูดคุยเอาไว้ก่อน แล้วจึงรียกลูกน้องคนนั้นมาไต่สวน ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้หัวหน้าสไตล์นี้ลดแรงกดดันทางความรู้สึกลงได้ และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงานให้ดียิ่งขึ้นไปอีก
สไตล์ C - Conscientious เป็นคนที่เจ้าระเบียบ อิงกฎและมาตรฐาน มีวินัย ให้ความสำคัญกับรายละเอียดและข้อเท็จจริง ต้องการความถูกต้องและแม่นยำ ชอบการคิดวิเคราะห์ เน้นเหตุและผล รอบคอบ ระมัดระวัง เก็บความรู้สึก ไม่ชอบความเสี่ยง
หัวหน้าสไตล์นี้ เรียกได้ว่า เป็นจ้าวแห่ง “หลักการและวิชาการ” เก็บรายละเอียดของงานทุกจุด กำหนดการทำงานอย่างเป็นขั้นเป้นตอน เพื่อให้ลูกน้องปฏิบัติตาม ลูกน้องของหัวหน้าสไตล์นี้อาจรู้สึกกดดันจากการที่หัวหน้าตั้งมาตรฐานงานเอาไว้สูงในเกือบทุกเรื่อง ถ้าทำได้ไม่ถึงมาตรฐานนั้นก็อาจถูกตำหนิได้ง่ายๆ อีกทั้งยังต้องการข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจมากมาย
หัวหน้าสไตล์นี้มีความขยันสูง ใฝ่หาความรู้อยู่เสมอ และอาจคิดไปว่าลูกน้องก็ต้องขยันและใฝ่หาความรู้ในระดับเดียวกับตนด้วย เมื่อไม่เป็นไปตามนั้นหัวหน้าอาจมองว่าลูกน้องไม่มีประสิทธิภาพ ไม่เก่ง และจากการที่หัวหน้าเป็นคนที่ช่างคิดวิเคราะห์ ถือเหตุผลและข้อเท็จจริงเป็นหลัก อีกทั้งมักเก็บความรู้สึก จึงไม่ค่อยพูดสื่อในสิ่งที่ตนคิดออกมา ทำให้เกิดช่องว่าง ความไม่เข้าใจระหว่างหัวหน้าและลูกน้องขึ้นได้ อาจเห็นได้จากการที่หัวหน้ามักส่งคำสั่งหรือรายละเอียดของงานมาทาง e-mail ทั้งๆ ที่ห้องทำงานอยู่ใกล้กัน เมื่อหัวหน้าเห็นจุดผิดพลาดของรายงาน ไม่ว่าจะเป็นจุดเล็กน้อย หรือจุดใหญ่ ก็ส่งกลับไปให้แก้ไขทาง e-mail การเพิ่มความเชี่ยวชาญเรื่องคน สร้างมนุษยสัมพันธ์ ให้ความเป็นกันเอง ค่อยๆแนะแนวทางการทำงานให้ลูกน้อง ลดหย่อนมาตรฐานสูงที่ไม่จำเป็นลงบ้าง จะช่วยให้หัวหน้าสไตล์นี้ดู “ธรรมดา” มากขึ้น น่าคบหา น่าเข้าใกล้ ลูกน้องอยากเข้ามาขอความรู้ ขอคำแนะนำมากขึ้น ซึ่งจะสร้างความร่วมมือร่วมใจ ทำงานกันเป็นทีมมากขึ้น หัวหน้าก็สบายใจกับลูกน้องมากขึ้น ขณะเดียวกันลูกน้องก็สบายใจเมื่อทำงานกับเราด้วย
จะเห็นว่าแต่ละสไตล์มีทั้งจุดแข็งและข้อจำกัด ไม่มีสไตล์ไหนสร้างหัวหน้าที่ดีที่สุด ทุกสไตล์เป็นหัวหน้าที่ดีได้ – แต่ไม่ใช่ในทุกสถานการณ์ เนื่องจากเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ ภายนอกให้เป็นดังใจได้ ดังนั้นเราจึงควรปรับและยืดหยุ่นตัวเราให้เข้ากับสถานการณ์ เช่น หัวหน้าสไตล์ D อาจต้องลดดีกรีของกิริยาจริงจังลงบ้าง แล้วเพิ่มการสื่อสาร พูดจาให้นุ่มนวลในสถานการณ์ที่ต้องการความร่วมมือจากผู้คนหรือลดความกดดันของทีมลง หัวหน้าสไตล์ S ที่ระมัดระวังการไปทำให้ผู้อื่นเจ็บช้ำน้ำใจ ด้วยการรับปาก “say yes” ช่วยทุกคนไปทุกเรื่อง ในสถานการณ์ที่ต้องจำกัดเรื่องทรัพยากรเวลาและการใช้กำลังคน หัวหน้าสไตล์นี้ควรวิเคราะห์พิจารณาให้ถี่ถ้วน ถ้าจำเป็นต้อง “say no” บอกปัดปฏิเสธการให้ความช่วยเหลือ ก็ต้องรีบแจ้งออกไป ยิ่งอึกอัก ยื้อเวลา อาจทำให้อีกฝ่ายที่มาขอความช่วยเหลือเข้าใจผิดได้
ส่วนใหญ่คนเรามักคิดเข้าข้างตัวเองว่าสิ่งที่เราทำหรือเราเป็นนั้นดีอยู่แล้ว มองข้ามมุมที่ผู้อื่นมองเห็นเรา โดยเฉพาะมุมที่เป็นจุดอ่อนหรือข้อบกพร่อง การเปิดใจรับ feedback หรือภาพสะท้อนจากผู้อื่นจะช่วยให้เรา “มองเห็น” ตัวเราได้จริงขึ้น ตรงขึ้น เราอาจจะไม่สามารถแก้ไขจุดอ่อนหรือข้อบกพร่องของเราได้ทั้งหมด เพราะไม่มีใครเป็น “ มนุษย์สมบูรณ์แบบ ” เพียงเราเข้าใจตัวเราทั้งจุดดีและข้อบกพร่อง และเริ่มการมุ่งมั่นพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่องจากตัวเรา
ความเก่งในเรื่องงานของหัวหน้าเพียงอย่างเดียวอาจยังไม่พอเพียงต่อความสำเร็จ จำเป็นจะต้องเก่งเรื่องคนอีกด้วย การที่หัวหน้าตระหนักในความแตกต่างรู้จุดแข็งจุดอ่อนของตนเอง รู้สไตล์ลูกน้อง รวมถึงการปรับรูปแบบวิธีการให้สอดคล้องเหมาะสมกับแต่ละบุคคล ก็จะส่งผลให้งานก็เดิน ใจลูกน้องก็ได้ ผลงานผลสำเร็จก็บังเกิด และเป็นที่ต้องการขององค์กร เรียกได้ว่า เป็น “ยอดหัวหน้า”
by : Tat Jarusaksri